“ดี-แลนด์ฯ” รวมพลังคนดี ส่งต่อพื้นที่สร้างสรรค์ เพื่อน้องๆ เยาวชนโรงเรียนบ้านบุ่งเบ้าห้วยเจริญ

ทุกวันนี้! ประเทศไทยยังมีโรงเรียนในพื้นที่ชนบทที่อยู่ห่างไกลในท้องถิ่นทุรกันดาร และโรงเรียนที่มีงบประมาณจำกัดอีกเป็นจำนวนมากที่ประสบปัญหาในเรื่องของการขาดแคลนหนังสือและอุปกรณ์การเรียน ห้องสมุดบางโรงเรียนมีหนังสือไม่เพียงพอที่จะเป็นแหล่งในการเรียนรู้และค้นคว้าหาข้อมูลสำหรับเด็กๆ ที่จะต้องเติบโตขึ้นเป็นเสาหลัก เป็นอนาคตของชาติในวันข้างหน้า
เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท ดี-แลนด์ กรุ๊ป จำกัด ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และโซนภาคตะวันออก ได้จัดกิจกรรม “D-inspire Space รวมพลังคนดี ส่งต่อพื้นที่สร้างสรรค์” ซึ่งเป็นกิจกรรม CSR ล่าสุดภายใต้โครงการ “คนดี ดี-แลนด์” (ปันสุข ก็สุขใจ) ด้วยการระดมทีมผู้บริหาร พนักงาน และสื่อมวลชนนำร่องปรับปรุงโครงสร้างอาคารเรียน ห้องสมุด ลานกีฬา และสนามเด็กเล่น ให้กับ โรงเรียนบ้านบุ่งเบ้าห้วยเจริญ ตำบลนาแซง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีเป้าหมายให้เด็กๆ สนุกกับการเรียนรู้และการเล่นไปพร้อมกันได้แบบครบวงจร
นอกจากนี้ ดี-แลนด์ฯ ยังเข้าไปช่วยพัฒนาปรับปรุงอาคารเรียน ห้องสมุด และร่วมบริจาคสิ่งของแล้ว ยังมอบสื่อการเรียนรู้ รวมทั้งวิธีการรับมือกับอุทกภัย การป้องกันตัวเองจากโรคที่จะมากับน้ำ และการฟื้นฟูที่อยู่อาศัยหลังน้ำลด มาสอนเด็กๆ ในโรงเรียน โดยกิจกรรมดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากกลุ่มนักบริหารระดับสูง ธรรมศาสตร์เพื่อสังคม (นมธ.) รุ่นที่ 11 สำหรับอุปกรณ์การเรียนการสอน คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ของเล่นเด็ก เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการ และอุปกรณ์กีฬาต่างๆ อีกด้วย
ศิริพงษ์ สมบูรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดี-แลนด์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า โรงเรียนบ้านบุ่งเบ้าห้วยเจริญ เป็นโรงเรียนที่ตัวอาคารเรียน รวมทั้งห้องสมุดชำรุดทรุดโทรมมาก เนื่องจากเป็นอาคารเก่ากว่า 50 ปีที่นอกจากจะขาดแคลนงบประมาณในการซ่อมแซมแล้ว ยังประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างหนัก เราจึงมาร่วมด้วยช่วยกันซ่อมแซมและปรับปรุงอาคารเรียน รวมทั้งจัดกิจกรรม อาทิ การแข่งขันกีฬามหาสนุกกระชับความสัมพันธ์ บริการตัดผมฟรี เลี้ยงอาหารกลางวันเด็กๆ และชุมชน ตลอดจนการให้ความรู้เรื่องการฟื้นฟูบ้านหลังน้ำลด สอนเด็กๆ สร้างสิ่งประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ภายในบ้าน นอกจากนี้ยังส่งมอบสิ่งของบริจาคต่างๆ อาทิ หนังสือเรียน หนังสืออ่านเล่น ตุ๊กตา ของเล่นเด็ก เครื่องเขียน อุปกรณ์การเรียนรู้ต่างๆ และเครื่องนุ่งห่มกันหนาวให้กับเด็กๆ อีกด้วย
จากการที่ดี-แลนด์ฯ เปิดตัวโครงการคนดี ดี-แลนด์ฯ มาตั้งแต่ปี 2558 ทำให้มีโอกาสไปช่วยเหลือเด็กๆ ในโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลพบว่ามีโรงเรียนอีกเป็นจำนวนมากที่ประสบปัญหาขาดแคลนหนังสือและอุปกรณ์การเรียน และบางโรงเรียนก็มีห้องสมุดที่มีจำนวนหนังสือเรียนไม่เพียงพอ จึงมีโครงการที่จะสร้างห้องสมุดและนำอุปกรณ์การเรียนไปมอบให้กับน้องๆ ในโรงเรียนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรม “D-inspire Space รวมพลังคนดี ส่งต่อพื้นที่สร้างสรรค์” ภายใต้คอนเซ็ปต์ Co-Learning Play Yard ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก คือ
1. Life Library ห้องสมุดเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตและการเติบโตของเด็กๆ 2. Creative Kids Space พื้นที่การเรียนรู้แห่งใหม่ เพื่อเปิดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ และ 3. Playing Health Yard สนามเด็กเล่นที่ออกแบบมาให้เด็กๆ สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ทั้งการเรียนรู้และการเล่นเพื่อความบันเทิง ซึ่งจะเป็นการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนและคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนต่างๆ ให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน
“ในปี 2561 นี้ ดี-แลนด์ฯ ยังคงมุ่งมั่นและตั้งใจจัดกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ด้วยคอนเซ็ปต์ ‘Share The Better Well-Being’ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม D-inspire Space รวมพลังคนดี ส่งต่อพื้นที่สร้างสรรค์ กิจกรรมส่งมอบห้องสมุด อาคารเรียน และสนามเด็กเล่นให้กับโรงเรียนในพื้นที่ที่ขาดแคลนเพื่อพัฒนาศักยภาพของเยาวชน และ D-eco Space กิจกรรมส่งมอบพลังงานและแสงสว่าง ทั้งไฟฟ้าและน้ำประปาให้กับชุมชนในพื้นที่ทุรกันดารเพื่อส่งต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชุมชนไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศต่อไป” ศิริพงษ์ กล่าว
นางเยาวนาฏ พรรณนานนท์ หรือ อาจารย์แหม่ม ผู้อำนวยการโรงเรียนบุ่งเบ้าห้วยเจริญ เล่าให้ฟังว่า โรงเรียนบ้านบุ่งเบ้าห้วยเจริญ เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เปิดสอนระดับชั้นอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ 6 มีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 45 คน โรงเรียนมีพื้นที่รวมประมาณ 6 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ต่ำหรือราบลุ่ม ทำให้ประสบปัญหาน้ำท่วมสูงเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 ส่งผลให้โรงเรียนต้องปิดทำการสอนเป็นเวลา 7 วัน กำแพงปูนด้านหลังโรงเรียนซึ่งกั้นระหว่างบริเวณโรงเรียนกับลำห้วยโดนน้ำกัดเซาะพังเสียหาย ห้องสมุดได้รับความเสียหาย ห้องเรียนและอุปกรณ์การเรียนบางส่วนชำรุด รวมถึงสนามเด็กเล่นและลานกีฬาเกิดการชำรุดเสียหายด้วยเช่นกัน
นางเยาวนาฏ พรรณนานนท์ หรือ อาจารย์แหม่ม ผู้อำนวยการโรงเรียนบุ่งเบ้าห้วยเจริญ เล่าให้ฟังว่า โรงเรียนบ้านบุ่งเบ้าห้วยเจริญ เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เปิดสอนระดับชั้นอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ 6 มีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 45 คน โรงเรียนมีพื้นที่รวมประมาณ 6 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ต่ำหรือราบลุ่ม ทำให้ประสบปัญหาน้ำท่วมสูงเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 ส่งผลให้โรงเรียนต้องปิดทำการสอนเป็นเวลา 7 วัน กำแพงปูนด้านหลังโรงเรียนซึ่งกั้นระหว่างบริเวณโรงเรียนกับลำห้วยโดนน้ำกัดเซาะพังเสียหาย ห้องสมุดได้รับความเสียหาย ห้องเรียนและอุปกรณ์การเรียนบางส่วนชำรุด รวมถึงสนามเด็กเล่นและลานกีฬาเกิดการชำรุดเสียหายด้วยเช่นกัน
“ห้องสมุดเป็นแนวคิดแรกที่อยากจะทำให้กับเด็ก เพราะเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญา แต่ห้องสมุดที่นี่ไม่มีหนังสือหรือสื่อสาระ ผอ.ก็เลยส่งหนังสือของบประมาณจัดสร้างห้องสมุดรวมแล้ว 3 ครั้ง และในครั้งที่ 3 นี่เองที่เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส เมื่อน้ำท่วมโรงเรียน ทางเขตได้ส่งหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ทำให้บริษัท ดี-แลนด์ ซึ่งมีแนวคิดที่จะช่วยเหลือโรงเรียนที่ประสบอุทกภัยและมอบโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กๆ ในถิ่นทุรกันดารอยู่แล้ว รับทราบและประสานงานขอข้อมูลจาก สพฐ. จนกระทั่งได้เข้ามาดำเนินโครงการช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทางโรงเรียน คณะครู รวมถึงเด็กๆ และผู้ปกครองทุกคนต้องขอขอบคุณ บริษัท ดี-แลนด์ กรุ๊ป เป็นอย่างมากที่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างโอกาสการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ช่วยให้เด็กๆ มีความสุขในการศึกษาค้นคว้า ได้รู้จักการให้และการแบ่งปัน ซึ่งถือเป็นรากฐานที่ดีในการนำไปสู่การเป็นคนดีของสังคม และเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป” อาจารย์แหม่ม กล่าว
เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ น้องเพชร-ด.ช.ภูมินทร์ พรรณวงศ์ อายุ 11 ปี ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในอนาคตใฝ่ฝันอยากเป็นหมอ เพราะอยากดูแลรักษาอาการป่วยไข้ให้พ่อ-แม่และช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งงานนี้หนุ่มน้อยเล่าประสบการณ์น้ำท่วมให้เราฟังว่า “ตอนที่เห็นน้ำท่วมรู้สึกตื่นเต้นและตกใจมาก ต้องอพยพย้ายไปอยู่บ้านป้า โรงเรียนต้องปิดเพราะน้ำท่วมสูง การเดินทางลำบากมาก จะไปตลาดก็ต้องนั่งเรือไป พอหลังจากน้ำลดลงก็มีทหาร พี่ๆ นักศึกษา ชาวบ้าน เพื่อนๆ ครู ผู้ปกครอง และคนในชุมชนมาช่วยกันทำความสะอาดบ้านและโรงเรียน ซึ่งจากเหตุการณ์น้ำท่วมทำให้ผมได้เรียนรู้ว่าเรื่องน้ำท่วมเป็นอุทกภัย เป็นภัยธรรมชาติที่เราต้องรู้จักและปรับตัวเพื่อรับมือกับมันให้ได้ ตัวอย่างเช่น การใช้กระสอบทรายป้องกันน้ำท่วม แต่ที่สำคัญคือ เราทุกคนสามารถป้องกันปัญหาน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน ด้วยการร่วมมือกันไม่ตัดไม้ทำลายป่า ปลูกป่าเพิ่มเติม และไม่ทิ้งขยะลงในแม่น้ำลำคลองครับ” น้องเพชร เล่าด้วยแววตามุ่งมั่น
ด้านสาวน้อยหน้าใสวัย 12 ปี “น้องแบม-ด.ญ.ธนัชพร พูลเพิ่ม” ปัจจุบันศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 บอกกับเราว่า “ตอนน้ำท่วมหนูได้ไปช่วยคัดแยกสิ่งของที่มีคนมาบริจาคและนำไปมอบให้กับชาวบ้าน โรงเรียนของหนูถูกน้ำกัดเซาะ สีถลอก พื้นสกปรก ห้องสมุดได้รับความเสียหาย อุปกรณ์การเรียนต่างๆ พังเกือบหมด หลังจากน้ำลดพวกเราก็มีรถดับเพลิงมาช่วยฉีดน้ำทำความสะอาดโรงเรียน รวมทั้งนักเรียน ครู และผู้ปกครองก็ช่วยกันเก็บขยะ ขัด ล้างทำความสะอาดพื้น และจัดเก็บห้องให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งจากเหตุการณ์น้ำท่วมทำให้หนูได้เห็นถึงความสามัคคีและความมีน้ำใจของชุมชนโดยรอบ สร้างความประทับใจและความรู้สึกดีๆ ให้กับตัวหนูที่มีต่อคนในชุมชนมากขึ้นค่ะ” น้องแบม กล่าวพร้อมรอยยิ้ม
ปิดท้ายกันที่ น้องไหม-ด.ญ.นิภาพร บุตรพรม อายุ 12 ปี กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งเป็นเยาวชนอีกคนหนึ่งที่ผ่านประสบการณ์น้ำท่วมทั้งที่บ้านและโรงเรียน ได้ร่วมแชร์ความคิดให้ฟังว่า “โรงเรียนเป็นเหมือนบ้านหลังที่ 2 ของหนู เพราะการได้มาโรงเรียนทุกวันทำให้เราได้รับความรู้ ได้เพื่อน ได้ทักษะการใช้ชีวิต เวลาอยู่ในโรงเรียนหนูมีหน้าที่เรียนหนังสือ ช่วยดูแลและทำความสะอาดห้องเรียน ช่วยสอนหนังสือน้องอนุบาล โดยเฉพาะห้องสมุดซึ่งเป็นแหล่งรวมของหนังสือ เป็นสถานที่ในการค้นคว้าหาความรู้ เพราะหนูอยากเป็นครู จะได้นำความรู้ไปสอนคนอื่นๆ ต่อไป หนูก็เลยอยากให้ห้องสมุดมีหนังสือเยอะๆ มีหนังสือนิทานต่างๆ ให้อ่านมากๆ ซึ่งเมื่อก่อนโรงเรียนของหนูขาดแคลนหนังสือ แต่พอบริษัท ดี-แลนด์ฯ เข้ามาช่วยเหลือด้วยการมอบหนังสือให้กับโรงเรียนมากมาย และช่วยสร้างห้องสมุดให้ใหม่ ช่วยปรับปรุงโรงเรียน ลานกีฬา และสนามเด็กเล่น ทำให้โรงเรียนของเราน่าอยู่มากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้หนูรู้จักการให้และการแบ่งปันเพื่อช่วยเหลือคนอื่นๆ ต่อไปอีกด้วยค่ะ” น้องไหม กล่าวทิ้งท้าย
เสียงสะท้อนเล็กๆ จากเด็กๆ โรงเรียนบ้านบุ่งเบ้าห้วยเจริญ ตอกย้ำว่า ความสุขง่ายๆ จากการให้และการแบ่งปันเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไทยให้น่าอยู่ เป็นสังคมที่เกื้อกูล และเป็นสังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง